- หน้าแรก RS
- >
- แบบบทความ
- >
- บทความทั้งหมด
- >
-
Thunderbolt - มาตรฐานใหม่ส ...
ปัจจุบัน เราต้องการอินพุต/เอาท์พุตที่รวดเร็วและหลากหลายกว่าเดิม และอยากได้บัสแบนด์วิดท์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองการเชื่อมต่อข้อมูลความเร็วสูงระหว่างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จำนวนมาก อุปกรณ์ลูกข่าย สินค้าผู้บริโภค ตลอดจนอุปกรณ์เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีราคาย่อมเยาว์ หลังจากที่ผูกขาดตลาดมาเป็นเวลาหลายปี ตอนนี้อินเตอร์เฟส USB (Universal Serial Bus) อาจจะได้พบกับคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อเป็นครั้งแรกในรูปของ 'Thunderbolt'
อินเตอร์เฟส USB (Universal Serial Bus) นั้นเป็นอินเตอร์เฟสมาตรฐานที่พบได้ทั่วไปในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่อพ่วงและอุปกรณ์พกพาต่างๆ เข้ากับคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิตอลหรือเครื่องเล่นมีเดียชนิดพกพา การเชื่อมต่อดังกล่าวจะทำผ่านอินเตอร์เฟสสองทางราคาถูก ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยกลุ่มบริษัทชั้นนำ 7 แห่ง (Compaq, DEC, IBM, Intel, Microsoft, NEC และ Nortel) ตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา เพื่อให้การเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอกกับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทำได้ง่ายขึ้น โดยนำมาใช้แทนขั้วต่อหลายชนิด ตลอดจนพัฒนาการกำหนดค่าซอฟต์แวร์ให้เรียบง่ายกว่าเดิม เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านการสื่อสารและทำให้อุปกรณ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
USB 2.0 และ USB 3.0
ปัจจุบัน USB 2.0 (USB แบบไฮสปีด) ติดตั้งในอุปกรณ์กว่าหมื่นล้านชิ้นทั่วโลก ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นสองถึงสามพันล้านชิ้นทุกๆ ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2008 มีการวางจำหน่าย USB รุ่นใหม่ในตลาด ภายใต้ชื่อ USB 3.0 (USB แบบซุปเปอร์สปีด) อินเตอร์เฟสชนิดใหม่นี้ทำงานร่วมกับ USB 2.0 ได้ ทว่า ความนิยมในตลาดยังห่างไกลกับ USB 2.0 มาก
ปัจจุบัน นอกเหนือจาก USB 3.0 ที่ถ่ายโอนข้อมูลได้จำนวนมหาศาลแล้ว ยังมีอินเตอร์เฟสอีกหนึ่งตัวที่กำลังมาแรง นั่นคือ Thunderbolt ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการไอทีอย่าง Apple และ Intel แม้ว่า Thunderbolt พยายามพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวมาเป็นคู่แข่งที่แท้จริงของ USB แต่เป็นไปได้มากว่า อินเตอร์เฟสทั้งสองตัวจะกลายเป็นสองอินเตอร์เฟสมาตรฐานที่คงอยู่ร่วมกันในตลาด แน่นอนว่า Intel กำหนดให้ Thunderbolt เป็นส่วนเติมเต็มของโปรโตคอล USB (ที่ Intel เป็นผู้ร่วมพัฒนา) ในขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการของอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นด้วย
เร็ว ทรงพลัง และเพรียวบางกว่า
USB 2.0 ถ่ายโอนข้อมูลได้ 480 MB/วินาที ในขณะที่ USB 3.0 ถ่ายโอนข้อมูลด้วยความเร็วเหนือกว่าราวๆ สิบเท่าหรือ 4.7GB/วินาที แต่ว่า อินเตอร์เฟสแบบใหม่อย่าง Thunderbolt สามารถเพิ่มความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลได้สูงสุด 10GB/วินาที นั่นหมายความว่า ภาพยนตร์ความละเอียดสูงขนาด 25 GB สามารถถ่ายโอนได้ภายใน 30 วินาทีโดยประมาณ เร็วกว่า USB 3.0 ที่ต้องใช้เวลา 60-70 วินาที คาดกันว่า Thunderbolt จะรองรับอุปกรณ์ประเภท I/O ความเร็วสูง รวมถึงอุปกรณ์เก็บข้อมูลความเร็วสูง เช่น สินค้าในกลุ่ม RAID เครื่องบันทึกและแสดงสื่อความละเอียดสูง และอุปกรณ์กล่องขยาย PCI Express (PCIe) ที่สำหรับแลปท็อป
นอกเหนือจากความสามารถในการโอนถ่ายข้อมูลอย่างรวดเร็วแล้ว Thunderbolt ยังจ่ายไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ได้สูงสุด 10 วัตต์ ซึ่งมากกว่า USB 3.0 กว่าสองเท่า อินเตอร์เฟสใหม่นี้ยังมีขนาดเล็กและเพรียวบางกว่า USB ด้วย เนื่องจากนำรูปแบบทางกายภาพและทางไฟฟ้าของขั้วต่อ Mini-DisplayPort ของ Apple มาใช้ ด้วยเหตุนี้ Thunderbolt จึงเหมาะกับอุปกรณ์โน้ตบุ๊คบางพิเศษ เน็ตบุ๊ค และแท็บเล็ตเป็นอย่างดี
ทองแดง, ขั้วต่อ, สายเคเบิล, และอุปกรณ์ควบคุม
Thunderbolt คืออินเตอร์เฟสข้อมูลแบบอนุกรมที่ใช้สายทองแดงเป็นสื่อในการถ่ายโอนข้อมูล และประกอบด้วยโปรโตคอลสองแบบ ได้แก่ PCI Express (PCIe) และ DisplayPort ซึ่งหมายความว่า Thunderbolt ถ่ายโอนข้อมูลแบบสองทิศทางพร้อมกัน และส่งสัญญาณแสดงผลด้วยสายเคเบิลเพียงเส้นเดียว พอร์ตของ Thunderbolt เป็นพอร์ตเดี่ยว รองรับฮับและการต่อพ่วง (Daisy Chain) กับอุปกรณ์ได้สูงสุด 7 ชิ้น รองรับอุปกรณ์แสดงผลสูงสุด 2 เครื่องผ่าน DisplayPort ความละเอียดสูงสุด 2560x1440 พิกเซล นอกจากนั้นยังรองรับเสียงคุณภาพสูงอีกแปดช่องทาง
ขั้วต่อ Thunderbolt ประกอบด้วยลวดห้าเส้น เส้นที่หนึ่งจะทำหน้าที่บริหารจัดการข้อมูล นอกจากนี้ยังมีลวดทิศทางเดียวกันอีกสองคู่ คู่หนึ่งทำหน้าที่เป็นเส้นทางถ่ายโอนข้อมูลอินพุต และอีกคู่หนึ่งเป็นเส้นทางถ่ายโอนข้อมูลเอาท์พุต การถ่ายโอนข้อมูลจึงเป็นไปในลักษณะสองช่องทาง ซึ่งรับและส่งข้อมูลได้สองทิศทาง สายเคเบิลแบบแอคทีฟของ Thunderbolt ยังฝังชิปไดรเวอร์ไว้ในขั้วต่อด้วย อุปกรณ์ควบคุมบนเครื่องแม่ข่ายและเครื่องลูกข่ายจะนำเข้า (Multiplex) สัญญาณจากโปรโตคอลทั้งสองแบบจากชั้นสื่อสารนำส่งข้อมูล (Transport Layer) ต่างๆ และแปลงสัญญาณ (De-multiplex) ให้เป็นสัญญาณแบบเดียวกันที่จุดหมายปลายทาง ทำให้อินเตอร์เฟส Thunderbolt รองรับอุปกรณ์ได้หลายชนิดในคราวเดียว นั่นทำให้ระบบและไดรเวอร์ต่างๆ ทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์ DisplayPort ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้
ภาพประกอบ 1 (ที่มา: Intel.com)
ศักยภาพในตลาด
ปัจจุบัน Apple เป็นบริษัทเพียงรายเดียวที่จำหน่ายคอมพิวเตอร์ที่ใช้พอร์ต Thunderbolt แต่ด้วยอิทธิพลของ Apple ในตลาดสินค้าผู้บริโภคและคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เฟสแบบใหม่นี้จึงมีฐานผู้ใช้งานจำนวนมาก นอกเหนือจากพอร์ต USB แล้ว Apple ได้เพิ่มพอร์ต Thunderbolt ใน MacBook Air, MacBook Pro, iMac และ Mac Mini นอกจากนี้ ผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายออกมาประกาศว่า พวกเขาตั้งใจจะวางจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้พอร์ต Thunderbolt ด้วย หนึ่งในผู้ผลิตเหล่านั้นคือ Sony ซึ่งได้ออกมาบอกว่าแลปท็อป Vaio ใหม่บางรุ่นจะมีพอร์ต Thunderbolt มาให้ด้วย หรืออย่างน้อยก็สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่นี้
ต้นทุนแห่งอนาคต

แน่นอนว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ คือต้นทุน ราคาสาย USB 2.0 โดยประมาณอยู่ที่ $1.50 ส่วนชิปเซ็ตจำหน่ายในราคาไม่ถึง $1 ในขณะที่สาย USB 3.0 จำหน่ายอยู่ที่ $4.50 โดยประมาณ ทว่าราคาของสาย Thunderbolt ในปัจจุบันตกอยู่ราวๆ $49 ซึ่งสูงกว่า USB 3.0 กว่าสิบเท่า ขณะเขียนบทความนี้ Intel ยังไม่ได้แจ้งราคาอุปกรณ์ควบคุมของ Thunderbolt อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนที่จะจำหน่ายชิปเซ็ตต้นทุนต่ำในปีนี้
ทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และบางครั้งก็อาจรวดเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ แต่ดูเหมือนว่า USB 2.0 ยังมีที่ว่างในตลาดอีกมาก Thunderbolt อาจมีความกว้างแถบความถี่มากกว่า USB 3.0 หรือ 2.0 สองเท่าหรือแม้แต่ 20 เท่าตามลำดับ แต่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องใช้ Thunderbolt ในอุปกรณ์ส่วนใหญ่จริงหรือ
กลับสู่ด้านบน