สำหรับใครที่สงสัยว่า ระบบควบคุมในงานอุตสาหกรรมมีกี่แบบ เราจะพามารู้จักกับระบบควบคุมในงานอุตสาหกรรม 5 ประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งทั้ง 5 ระบบนี้ล้วนเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการผลิต และช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Programmable Logic Controllers (PLC)
Programmable Logic Controllers หรือ PLC คือ ระบบควบคุมเครื่องจักรหรือกระบวนการทำงานต่าง ๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติ โดย PLC ทำงานด้วยการรับคำสั่งจากมนุษย์ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้ไปประมวลผลและสั่งการเครื่องจักรด้วยตัวเอง เช่น ควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของเครื่องจักร, ควบคุมการทำงานของมอเตอร์ หรือควบคุมการเปิด-ปิดระบบสายพานลำเลียงสินค้า
PLC สามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้หลากหลายประเภท ทั้งเครื่องจักรขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และยังสามารถนำ PLC มาเชื่อมต่อกัน เพื่อสร้างเป็น PLC Network ที่สามารถทำงานได้อย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Programmable Automation Controllers (PAC)
Programmable Automation Controllers หรือ PAC คือ ระบบควบคุมในโรงงานที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจาก PLC ด้วยการนำความสามารถของระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการควบคุมมากขึ้น ทำให้ PAC สามารถทำงานที่ซับซ้อนมากกว่าเดิมได้ และยังทำงานได้รวดเร็วมากกว่า PLC
ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ PAC จึงเป็นระบบควบคุมที่มักถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง เช่น โรงกลั่นน้ำมัน หรือโรงงานไฟฟ้า
Distributed Control Systems (DCS)
Distributed Control Systems หรือ DCS เป็นระบบที่มีความคล้ายคลึงกับ PAC ในเรื่องของความสามารถในการควบคุมระบบงานที่ซับซ้อน แต่จะต่างกันตรงที่ DCS เป็นระบบที่มีความเสถียรมากกว่า และมีเครื่องมือที่หลากหลายมากกว่า เช่น การตรวจสอบกระบวนการทำงาน, การจัดเก็บข้อมูลประวัติการทำงาน และการจัดการสัญญาณเตือนต่าง ๆ DCS จึงมักถูกนำไปใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน
Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA)
Supervisory Control and Data Acquisition หรือ SCADA คือ ระบบที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูล ตรวจสอบ และรายงานผล เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้วิเคราะห์ หรือหาความผิดปกติต่าง ๆ ได้แบบ Real-Time พร้อมทั้งสามารถทำงานควบคู่ไปกับอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น PLC และ DCS ได้
SCADA นิยมนำไปใช้ควบคุมและดูแลการทำงานภายในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่เน้นการสั่งการระยะไกล เช่น อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ หรืออุตสาหกรรมการบริหารจัดการน้ำหรือน้ำมันเป็นสำคัญ
Intelligent Electronic Devices (IED)
Intelligent Electronic Devices หรือ IED คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ที่สามารถทำงานได้หลากหลายฟังก์ชัน ทั้งยังมีความละเอียดและแม่นยำสูง มักใช้ในการมอนิเตอร์และควบคุมการทำงาน รวมถึงใช้เพื่อการสื่อสารภายในโรงงาน และยังสามารถทำงานร่วมกับระบบอีเทอร์เน็ตและโปรโตคอลอื่น ๆ ของโรงงานได้อีกด้วย