กริปเปอร์มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน และความสามารถของแต่ละรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยแต่ละประเภทมีรายละเอียด ดังนี้
1. กริปเปอร์สุญญากาศ (Vacuum Gripper)
อุปกรณ์สำหรับจับยึดชิ้นงานด้วยแรงดันสุญญากาศ สามารถรองรับชิ้นงานที่มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ทำให้ชิ้นงานเสียหาย เหมาะสำหรับชิ้นงานขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก ต้องการความคล่องตัวในระดับสูง เช่น การหยิบจับชิ้นส่วนรถยนต์ หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
2. กริปเปอร์นิวเมติก (Pneumatic Gripper)
กริปเปอร์จับชิ้นงานที่ใช้แรงดันอากาศในการทำงาน ประกอบไปด้วยกระบอกลม (Pneumatic Cylinder) ที่เชื่อมต่อกับกริปเปอร์ เมื่ออากาศถูกอัดเข้าไปในกระบอกลม จะสร้างแรงดันที่ทำให้กริปเปอร์ทำงาน โดดเด่นเรื่องมีช่วงแรงบีบสูง เหมาะสำหรับงานหนัก จับชิ้นงานแน่น มีขนาดกะทัดรัด สามารถทำงานในพื้นที่จำกัดได้รวดเร็ว นิยมใช้กับงานชิ้นส่วนในเครื่องจักรกล การตัดเฉือนชิ้นงาน และงานประกอบ
3. กริปเปอร์ไฮดรอลิก (Hydraulic Gripper)
กริปเปอร์จับยึดชิ้นงานที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิก ขับเคลื่อนโดยลูกสูบที่จะส่งแรงไปที่เครื่องมือหนีบวัตถุสำหรับทำการเปิดและปิดนิ้วของกริปเปอร์ได้อย่างแม่นยำ ทำให้มีพลังในการจับยึดประสิทธิภาพสูง เหมาะสำหรับงานจัดการกับสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก และต้องการความคล่องตัวในการหยิบจับ
4. กริปเปอร์ไฟฟ้า (Electric Gripper)
อุปกรณ์จับยึดชิ้นงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า มีความสามารถในการหยิบจับชิ้นงานเข้า-ออกได้แม่นยำ และสามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้ โดยผู้ใช้สามารถปรับค่าความแรงและความเร็วในการจับได้ตามต้องการ เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความเร็วสูง และแรงจับเบา/ปานกลาง